พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
![]() | |
พระบรมนามาภิไธย | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ |
พระปรมาภิไธย | พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์สยาม |
ราชวงศ์ | จักรี |
ครองราชย์ | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 |
บรมราชาภิเษก | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับศักราชแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2469) |
รัชกาล | 8 ปี 96 วัน |
รัชกาลก่อน | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
รัชกาลถัดไป | พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร |
วัดประจำรัชกาล | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[1] |
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร | พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร |
ข้อมูลส่วนพระองค์ | |
พระราชสมภพ | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม |
สวรรคต | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (47 ปี) มณฑลเซอร์รีย์ สหราชอาณาจักร |
พระบรมราชชนก | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบรมราชชนนี | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง |
พระบรมราชินี | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี |
ลายพระอภิไธย | ![]() |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 9 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (นับศักราชแบบเก่า) รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 รวมพระชนมพรรษา 47 พรรษา
พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” เป็นต้น
สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต
และพระองค์ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น